kidzania

head_02.gif

kidzania เป็นสวนสนุกแนว edutainment จำลองอาชีพในโลกแห่งความเป็นจริง
มาให้น้องๆหนูๆได้มาสวมบทบาททดลองทำมาหาเลี้ยงชีพจริงๆ
ใช้หยาดเหงื่อ แรงงาน มันสมอง แลกค่าจ้าง (เป็นเงินจริงๆ แต่เป็นเงินสกุล kidzania)
มีกว่า 70 อาชีพให้ทดลองทำงานในบรรยากาศเสมือนจริงทุกอย่าง (ในขนาดจำลองเพื่อเด็ก)
มีความยากง่ายในหลายระดับ ตามความสามารถและความสนใจของเด็กๆ
kidzania จะเป็นเมืองสำหรับเด็กโดยแท้ มีครบครันตั้งแต่ โรงพยาบาล สถานีดับเพลิง ร้านเสริมสวย ธนาคาร สถานีวิทยุ/โทรทัศน์ ร้านพิซซ่า ห้างสรรพสินค้า โรงละคร ฯลฯ ซึ่งล้วนสปอนเซอร์โดยเจ้าของธุรกิจจริงๆ
แต่พนักงาน/คนทำงานทั้งหมดคือเด็กๆที่เข้ามาใน kidzania นั่นเอง
อุปกรณ์ทุกอย่างได้รับการออกแบบให้อยู่ในขนาดที่เหมาะสำหรับเด็กทั้งสิ้น
หลังจากได้รับคำอธิบายเรียรู้เกี่ยวกับอาชีพที่เลือก หนูน้อยทั้งหลายจะได้รับภารกิจที่ต้องทำ
พร้อมเปลี่ยนชุดเครื่องแบบตามอาชีพ และลุยทำงานทันที

แน่นอนน้องย่อมจะได้รับค่าจ้างจากงานที่ตนทำในเงินสกุล kidzania
ที่สามารถนำไปใช้ซื้อของและบริการใน kidzania ได้
เป็นการเรียนรู้ถึงค่าของเงินว่า ย่อมมาจากความเหน็ดเหนื่อย มิใช่ได้มาฟรีๆ
อ๊ะ...อ้า มิเพียงจบเพียงเท่านี้ คุณหนูสามารถเปิดบัญชีที่ธนาคารใน kidzania
เก็บสะสมค่าจ้างที่หาได้ไว้ใช้ หรือสะสมต่อไปเรื่อยๆ ในครั้งต่อๆไป (กลายเป็นเศรษฐีน้อยใน kidzania)

kidzania2.jpg

นอกจากความสนุกจากอาชีพต่างๆแล้ว เด็กๆยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับปฎิบัติตัวในสังคม
ผ่านการทำงานและกิจกรรมต่างๆ เสริมสร้างความเป็นตัวของตัวเองและการอยู่ร่วมกันในสังคม
ในด้านความปลอดภัย ผู้ที่เข้ามาใน kidzania ทุกคนต้องสวมสายรัดข้อมือที่มีรหัสเชื่อมสมาชิกของกลุ่ม
เด็กๆ ไม่สามารถออกจาก kidzania โดยปราศจากผู้ปกครองที่พามา
แน่นอนว่ามีกล้องวิดิโออยู่ทั่วพื้นที่เพื่อความปลอดภัย

ในทุกๆกิจกรรมจะมีมีพนักงานของ kidzania ผู้ได้รับการอบรมแบบมืออาชีพที่จะคอยแนะนำช่วยเหลือเด็ก
ให้สามารถทำงานลุล่วงพร้อมความสนุกสนานและช่วยเหลือตัวเองได้
เพราะผู้ปกครองทั้งหลายไม่ได้รับอนุญาติให้เข้าไปในแต่ละ pavillion
เพื่อให้ภายในเป็นโลกแห่งการเรียนรู้ของของเด็กๆอย่างแท้จริง
ซึ่งจะมีจอมอนิเตอร์ให้ชม พร้อมเลานจ์บริการฟรีอินเตอร์ หนังสือให้อ่านระหว่างคอยคุณลูกแบกหามทำงาน
ยกเว้นบางโซนที่สามารถแจมได้ในฐานะผู้ชม เช่น เป็นผู้ชมการแสดง (ที่จัดและแสดงโดยน้องๆเอง)

อาชีพก็มีหลากหลายมากมาย เช่น ดีลเลอร์รถยนต์ เรียนรู้วิธีขายรถ อธิบายคุณสมบัติ/จุดเด่น
รับออร์เดอร์ customize รายละเอียดรถตามความประสงค์ของลูกค้า
ที่สถานีโทรทัศน์ ก็มีหลายสายงานตั้งแต่ ช่างกล้องโทรทัศน์,ผู้กำกับเสียง,ผู้กำกับรายการ,สไตลิสต์,
ช่างแต่งหน้า,ผู้รายงานข่าว ร่วมกันลงมือทำรายการโทรทัศน์จริง ออกอากาศจริง (ภายใน kidzania)
ที่สำนักพิมพ์ ก็ได้เป็นนักเขียนการ์ตูน ประชุมปรึกษากับบรรณาธิการนิตยสารในคอนเซ็ปต์
พร้อมลงมือวาดการ์ตูน ทำออกมาเป็นรูปเล่มจริง เก็บกลับบ้าน
ที่โรงพยาบาล ก็ได้ผ่าตัด หัดช่วยผู้ป่วยฉุกเฉิน
ที่โรงเรียนสอนธุรกิจ ได้เรียนรู้ขบวนการวางแผนการผลิตสินค้า
ตั้งแต่การสำรวจตลาด วางแผน คำนวณกำไรขาดทุน (โอ้แม่เจ้า!)

แล้วแต่ละสปอนเซอร์ในแต่ละอาชีพก็ล้วนชื่อดังในแต่ละสายทั้งนั้น
อาทิ ดีลเลอร์รถยนต์ สปอนเซอร์โดย Mitsubishi, ร้านแฮมเบอร์เกอร์ โดย Mos burger,
โรงงานขนม โดย Morinaga, ธนาคาร โดย Mitsui Sumitomo เป็นต้น

เด็กๆสามารถสร้างประสบการณ์ของตนเองตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไป แต่จะให้ดีก็เป็นช่วง 4-15 ปี
สำหรับเด็กที่มีความผิดปกติ ราคาค่าตั๋วลดครึ่งหนึ่ง

ต้นกำเนิดของ kidzania นั้นมาจากเม็กซิโก ในปีค.ศ. 1999 ในเม็กซิโกเอง มีอยู่ 2 ที่
ส่วน kidzania ญี่ปุ่นนับเป็นแห่งแรกในต่างประเทศเปิดเมื่อตุลาคม 2006
ที่ Urban Dock ใน Lalaport Toyosu โตเกียว
ด้วยคอนเซ็ปต์ที่น่าสนใจเอามากๆ ทำให้กำลังไปเปิดในอีกหลายประเทศ
เช่น ฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ ไปเปิดที่จาร์กาต้า อินโดนิเซีย
ในปี 2008 จะเปิดที่ลิสบอนและดูไบ ตามด้วยบาร์เซโลนา, โซลและไต้หวันในปี 2009

ช่างเป็นสวนสนุกที่น่าสนใจมากๆ แม้เด็กอาจยังไม่รู้ว่าชอบอาชีพอะไร หรือเข้าใจอาชีพนั้นๆมากนัก
แต่สิ่งที่ได้จาก kidzania น่าจะเป็นประสบการณ์ทางสังคมที่มีประโยชน์ทีเดียว
อย่างน้อยก็ได้จิบรสความยากลำบากของและคุณค่าของการทำงาน
อาชีพในแต่ละประเทศก็จะไม่เหมือนกันทั้งหมด มีการดัดแปลงตามเศรษฐกิจสังคมของแต่ละที่ด้วย
สำหรับญี่ปุ่น kidzania ยังได้รางวัล Good Design Award ประจำปี 2007 ด้วย

เด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า

Comments

  1. ได้รู้เรื่องเกี่ยวกับ Kidzania ในวิชาเรียนภาษาญี่ปุ่นที่ Japan Foundation ครับ
    น่าสนใจมาก
    และรู้สึกว่าจะฮิตมากๆ ที่ญี่ปุ่น

    ReplyDelete
  2. ขยันจังค่ะ ยังไปเรียนลับคมภาษาอยู่ด้วย

    ReplyDelete
  3. โห เจ๋งอะค่ะ
    เห็นแล้วทำให้นึกถึงตัวเองวัยเด็กๆ
    ถ้ามีโอกาสได้ทำอะไรแบบนี้ คงได้ลองสิ่งต่างๆ แล้วก็อาจจะเลือกสายอาชีพที่ตัวเองชอบและเหมาะสมได้จริงๆ ไม่เหมือนที่ต้องมาลองผิดองถูกเอาตอนเรียนจบเข้าสู่โลกของการทำงานอย่างนี้

    อ่านแนวคิดแล้วก็อยากให้มีที่เมืองไทยมั่งเนาะ น่าสนใจมากๆเลยค่ะ

    ReplyDelete

Post a Comment