how to tie a rope



โบราณว่า เรียนผูกก็ต้องเรียนแก้
ซึ่งถ้ารู้/ศึกษาวิธีผูกให้ดี อย่างถูกวิธี เวลาจะแก้ก็ย่อมไม่ยาก
แถมที่จริงเราผูกเพื่อที่จะแก้นั่นเอง

เมื่อเดือนก่อน สะดุดตากับ นิตยสารประกอบรายการเพื่อการศึกษาของ NHK เกี่ยวกับวิธีการผูกเชือก ที่ร้านหนังสือคิโนะคุนิยะ ก็รีบคว้า(ซื้อ)กลับบ้านทันที ด้วยชอบศิลปะการผูกเชือกของญี่ปุ่นอยู่แล้ว แต่เล่มนี้เป็นวิธีการผูกเชือกแบบเป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การผูกตั้งหนังสือพิมพ์ ผูกกล่องพ้สดุ/สัมภาระ ผูกราวตากของ ผูกรั้ว ผูกโน่นผูกนี่สารพัน แม้แต่เป็นที่รองแก้วก็ยังได้ ในการผูกแต่ละแบบ ก็แตกต่างกันตามวัตถุประสงค์การใช้งาน และล้วนมีความหมายทั้งสิ้น แถมบางอย่างก็มีความหมายแฝง เช่นการผูกแบบหลังเต่า ที่ยังเหมาะสำหรับห่อของขวัญ สื่อความหมายที่ดีอีกด้วย ปีใหม่ที่ผ่านมาจึงได้ประเดิมผูกของขวัญให้หลายคน

ประวัติคุณลุงโคะกุเระ มิคิโอะ ผู้สอนก็แสนน่ารัก จากภาพยนตร์เรื่องทาร์ซานที่ดูตอนประถม นำพาคุณลุงให้สนใจและสนุกสนานกับการผูกเชือกตั้งแต่นั้น ต่อเนื่องให้เรียนรู้วิธีการผูกเชือกที่ถูกต้องแบบของลูกเสือ และพัฒนาฝึกฝนมาเรื่อยๆ มุ่งมั่นเป็นเซียนแห่งการผูกเชือก จนได้ก่อตั้งสถาบันวัฒนธรรมการผูกเชือกขึ้นในปี 2000

ชื่นชมในวิถีความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังแบบนี้จริงๆ ไม่จำเป็นที่จะต้องเก่งในเรื่องใหญ่ๆ แต่เป็นผู้ยิ่งใหญ่ตัวจริง ในเรื่องที่เราชอบเราสนใจ แม้เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆก็ตาม

Comments